โรคกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated disc)
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคนี้
เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อมจะทำให้ความยืดหยุ่นลดน้อยลงเรื่อย ๆ หากเปลือกนอกมีการฉีกขาด เนื้อเยื่อของหมอนที่อยู่ข้างในก็จะสามารถเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่รอบข้าง และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ สาเหตุ เช่น
- การยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องบ่อยๆ
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
- นั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องนานๆ
- อุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลัง
อาการและแนวทางการดำเนินโรค
อาการที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับมีได้ 3 รูปแบบ คือ อาการปวด อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรืออาการชา
อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทมีส่วนคล้ายกับโรคโพรงประสาทตีบแคบอยู่มากเนื่องจากเป็นอาการของเส้นประสาทที่โดนกดทับเหมือนกัน ส่วนที่ต่างกันคือ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนมักจะมีอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรงกว่า เนื่องจากมีการอักเสบรุนแรงเกิดขึ้นรอบเส้นประสาท ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงมากจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เลย
- อาการที่คอ : ปวดคอบ่า ร้างลงแขน อาการที่คอเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาจจะมีชา หรืออ่อนแรงร่วมด้วย
- อาการที่หลัง : ปวดหลังบริเวณเอวส่วนล่าง อาจมีอาการที่หลังเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มักมีอาการในท่านั่ง หรือมีการนั่งงอตัวไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับมากที่สุด
- อาการที่ขา : อาการแสดงที่ขามีได้ 3 แบบ คือ อาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
อาการปวดหรือชาขาที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีลักษณะคือ มีอาการตามแนวที่เส้นประสาทวิ่งไป สามารถปวดได้ตั้งแต่บริเวณเอว ต้นขา น่อง ไปจนถึงบริเวณเท้าและนิ้วเท้าได้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็มีลักษณะคล้ายอาการปวดและชา คือจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น
วิธีการรักษา
- การรักษาด้วยตัวเอง
- ปรับพฤติกรรม ไม่ก้มๆ เงยๆ ไม่ยกของหนัก ลดน้ำหนัก
- ออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
- ลดอักเสบโดยประคบร้อนหรือเย็น
- การรักษาทางกายภาพบำบัด
- การรักษาด้วยมือนักกายภาพบำบัด (Manual Technique)
- การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น
- อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
- การกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation)
- เลเซอร์ (Laser)
- คลื่นกระแทก (Shock wave)
- คลื่นสั้น (Short wave)
- ดึงหลังด้วยเครื่อง (Traction)
- ประคบร้อน เย็น
- การออกกำลังกายเพื่อการรักษา (Therapeutic exercise)
- ปรับพฤติกรรมที่จะทำให้มีกดทับเส้นประสาทมากกว่าเดิม
- แนวทางการรักษาทางด้านอื่นๆ
- รับประทานยาแก้อักเสบหรือยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวด
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท
- การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
- การผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยกล้องจุลทรรศน์
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกโดยใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี
- ฝังเข็ม
การป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีกของโรคนี้
- หลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ทุกๆ ชั่วโมง
- ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี เช่น การยืนควรยืนให้น้ำหนักตัวค่อนมาทางส้นเท้า แขม่วท้อง อกผาย ไหล่ผึ่ง หากนั่งจะต้องนั่งหลังตรงหรือแอ่นน้อยที่สุด ที่นั่งต้องรองรับก้นและโคนขาทั้งหมด ความสูงต้องพอดีที่ฝ่าเท้าวางเต็มที่
- ไม่ควรก้มตัวลงไปยกของหนัก แต่ต้องย่อตัวนั่งลงกับพื้นก่อนยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา
- หากนอนหงายควรใช้หมอนข้างใบใหญ่หนุนที่โคนขา ซึ่งจะช่วยให้กระดูกสันหลังแบนราบ แต่หากนอนตะแคง ควรนอนให้ขาล่างเหยียดตรง ขาที่อยู่ด้านบนงอ สะโพกและเข่ากอดหมอนข้างไว้
- ลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ โดยบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง สามารถช่วยพยุงให้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ แต่อย่าลืมวอร์มอัพก่อนออกกำลังกาย เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ป้องกันอาการบาดเจ็บ
ติดต่อเรา (Contact)
สนใจสอบถามข้อมูล และ ติดตาม KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
Line
@Kinrehab
Call
091-803-3071
Call
095-884-2233