อาการปวดหลังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนที่มีอาการปวด ได้แก่ ปวดหลังส่วนบน ปวดหลังส่วนกลาง และปวดหลังส่วนล่าง โดยอาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน โดยจะมีอาการปวดหลังตั้งแต่ระดับคอลงไปจนถึงบริเวณก้นกบ โดยอาการส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบริเวณบั้นเอวไปจนถึงก้นกบ
อาการปวดหลังสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้ 3 ประเภท ได้แก่
- อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
- อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน (Subacute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน
- อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน
อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ โดยโรคเกี่ยวกับหลังที่พบได้บ่อยๆ อาทิ
- โรคของเอ็นและกล้ามเนื้อหลัง
- โรคความเสื่อมข้อติดกระดูกสันหลัง
- โรคของหมอนรองกระดูก
- โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ
- โรคเกี่ยวกับการผิดรูปของกระดูกสันหลัง
- โรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ
- โรคการอักเสบที่ไม่ใช่ติดเชื้อ
- โรคมะเร็งซึ่งรวมทั้งมะเร็งของกระดูกสันหลัง และ มะเร็งแพร่กระจาย มาที่กระดูกสันหลัง
- โรคที่เกิดจากอุบัติเหตุของกระดูกสันหลัง
นอกจากนี้ อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจเป็นอาการแสดงของโรคที่ไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ภาวะทางจิตใจ เป็นต้น
โรคที่พบได้บ่อยเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง
1. โรคเอ็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute back strain) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์ อาการที่พบจะปวดหลังแต่ไม่ร้าวไปที่ขา สาเหตุเพราะกล้ามเนื้อหลังแข็งและเกร็งทำให้แนวแอ่นตัวของหลังหายไป เมื่อกดกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลังจะรู้สึกเจ็บ ลักษณะอาการดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะการเกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุ
2.โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Lumbar disc herniation) พบในผู้ป่วยอายุน้อยไม่เกิน 50 ปี มักเป็นแบบเฉียบพลัน ภายหลังการยกของหนักหรือหมุนตัวผิด ทำให้มีหมอนรองกระดูกแตกออกไปทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา อาจตรวจพบอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาท L4, L5, S1 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบบ่อย
3.โรคช่องบรรจุไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis) อาการปวดหลังและขาในผู้ป่วย จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งใช้เวลาเป็นปี อาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างและมีการร้าวไปที่ก้น ต้นขาและน่อง มีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาและมีอาการน่องชาหรือไม่มีแรงเมื่อมีการเดินไกล แต่เมื่อนั่งพักเพียงไม่กี่นาทีอาการก็จะดีขึ้นและสามารถเดินต่อไปได้อีก
หากมีอาการปวดหลัง ร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์
ปวดหลังเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการชา อ่อนแรงตามแขนขา ปวดหลังและมีไข้ ปวดหลังในเวลากลางคืน นอนพักก็ไม่หาย ระบบขับถ่ายผิดปกติ
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ, โรงพยาบาลนครธน และโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id